[x] ปิดหน้าต่างนี้
ยินดีต้อนรับคุณ บุคคลทั่วไป   
เมนูหลัก
poll

   คุณคิดว่าเวปนี้เป็นอย่างไร


  1. ดีมาก
  2. ดี
  3. ปานกลาง
  4. แย่
  5. แย่มาก


เรื่องเล่าชายแดน
  

  หมวดหมู่ : การเฝ้าระวัง Covid-19
เรื่อง : การพัฒนาระบบบริการที่เป็นมิตรกับชาวต่างชาติ ด้วยคุณธรรม “รักเหนือรัก” ในระดับศีล 5 ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
blog name : admin
ระดับ : [ มือใหม่ ] [ หนึ่งในใต้หล้า ]
เข้าชม : 1246
ศุกร์์ ที่ 22 เดือน มกราคม พ.ศ.2564 ปักหมุดและแบ่งปัน
    

การพัฒนาระบบบริการที่เป็นมิตรกับชาวต่างชาติ ด้วยคุณธรรม “รักเหนือรัก” ในระดับศีล 5 ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ถวายพระบาท สมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563
 
พิมณทิพา มาลาหอม  นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ
พนมวรรณ์  สว่างแก้ว พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
วีรพันธ์  ซื่อสัตย์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ
หรรษา  ชื่นชูผล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ
กลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
 
                              มีคนถามข้าพเจ้าว่า คุณธรรม “รักเหนือรัก” ระดับ ศีล 5 ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
 (โควิด-19) ได้อย่างไร ฟังดูเป็นนามธรรมมาก จะทำได้จริงหรือเปล่า ทำไมต้องไปทำให้เป็นมิตรกับชาวต่างชาติ ทำกับคนไทยไม่ได้หรือ โอเครค่ะ มาทราบที่มาที่ไปกันก่อนนะคะว่าทำไม ต้อง “พัฒนาระบบบริการที่เป็นมิตร  ด้วยคุณธรรม  “รักเหนือรัก” ระดับ ศีล 5 เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด - 19) ถวายพระบาท สมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563” สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาศักยภาพให้กับหน่วยบริหารและหน่วยบริการ ให้มีระบบบริหารจัดการและระบบบริการเป็นมิตรรองรับชาวต่างชาติ  ตามโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพชาวต่างชาติ โดยให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาคมอาเซียน             ด้านสาธารณสุข
                             จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 2 ประเทศคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  3 แขวง คือแขวงสะหวันนะเขต, แขวงสาละวัน และแขวงจำปาสัก และราชอาณาจักรกัมพูชา คือจังหวัดพระวิหาร ซึ่งแต่ละชายแดน มีความแตกต่างกันทางด้านภูมิศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษา รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายของประชากร เข้าเมืองทั้งถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมาย ประกอบกับ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ได้มีการเกิดโรคอุบัติใหม่ และมีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากที่มีการรายงานการพบผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2019 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ต่อมาได้มีการรายงานเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ.2020 ว่าโรคปอดอักเสบที่ระบาดที่อู่ฮั่น มีสาเหตุจากไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) และพบการแพร่เชื้อจากคนสู่คนนับแต่นั้นไวรัสนี้ได้แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางไปทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public health emergency of international concern (PHEIC) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของประชาชนตามแนวชายแดน
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ได้มองเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงมีการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย กำกับ  ติดตาม ส่งเสริมสนับสนุนให้สถานบริการสุขภาพภาครัฐ และได้มีการพัฒนาและจัดระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรรองรับชาวต่างชาติ ด้วยคุณธรรม “รักเหนือรัก ระดับ ศีล ๕ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19) ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินเทพยวรางกูร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 รวมทั้งมีการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับประชาชน และผู้รับบริการชาวต่างชาติในชุมชน และการประสานงานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน  ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ได้ โดยได้ดำเนินการในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการให้บุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งระดับ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่สมัครใจเข้าร่วมการอบรม ครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอ โดยจัดแบ่งเป็น 4 โซน ๆละ 6-7 อำเภอ  สิ่งที่เป็นไฮไลต์ และตอบโจทย์ประเด็นที่ทั้งฮิตและฮอทในขณะนั้น คือมี อสม. ในชุมชนชายแดน สนใจขอเข้าร่วมในการอบรม เพราะ อสม. บอกกับวิทยากร คือคุณแม่ทันตแพทย์หญิงสีใบตอง บุญประดับ ผู้อำนวยการองค์กรบ้านเกื้อรักว่า “พวกหนูกลัวก็กลัวโควิดค่ะ แต่สงสารพวกเขาที่กลับมาจากทั้งต่างประเทศ และต่างจังหวัดในประเทศไทยที่ถูกกักตัว 14 วัน พวกหนูต้องไปเยี่ยมบ้าน ไปวัดไข้ และสอบถามอาการ กลับมารายงานคุณหมอที่ รพ.สต. บางรายมีไข้มาจากพื้นที่เสี่ยงเช่นที่กรุงเทพ หรือภูเก็ต หนูก็กลัวนะคะ แต่พอมาฟังอาจารย์แม่ที่บอกว่า เมื่อพวกหนู มีพฤติกรรมสะอาด ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ เสียสละ และกตัญญู จะทำให้หนู ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ได้” ข้าพเจ้าแอบถามต่อว่า “แล้ว อสม.นาง (นามสมมติ) คิดว่าตัวเองจะทำได้ไหม๊ค่ะ มันยากไปรึเปล่าค่ะ แล้วทำถวาย ร.10 ด้วย” อสม.นาง ตอบอย่างน่าสนใจ ฟังคำพูดและสังเกตท่าทีของอสม.นางประเมินความเป็นไปได้ อสม.นางกล่าวว่า “อาจารย์หมอนิด เป็นหยั้งซิเฮ็ดบ่ได้ พฤติกรรม 6 อย่าง เวลาออกไปเยี่ยมบ้านคนที่ถูกกักตัวจะได้เอาไปสอนเค้าด้วย พฤติกรรมอันแรกที่ว่า”สะอาด” คือต้องล้างมือทุกครั้งด้วยสบู่กับน้ำสะอาด หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หลังที่หยิบจับอะไรก็ตามพวกเฮาเป็น อสม.ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนในชุมชนอยู่แล้ว(แอบสังเกตสีหน้าและแววตาดูนางมีความสุขในน้ำเสียงแววตามีประกายแวววาวแห่งความสุข) ส่วนเรื่อง “ขยัน”ทุกครั้งที่จะออกชุมชน ต้องสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ไว้ล้างมือ  เรื่อง “ประหยัด” ก็ไม่ยากนะคะคุณหมอ หน้ากากอนามัยเราใส่หน้ากากผ้าก็ได้ค่ะ ได้ซักทุกวันประหยัดเงิน ซื้อชิ้นหนึ่งก็หลายบาท ส่วนการล้างมือเราล้างน้ำสบู่ ก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้เหมือนกัน ส่วน “ซื่อสัตย์” เฮาบ่ตั๋วเจ้าของ(โกหกตัวเอง) คือล้างมือก็ต้องล้างอิหลี(ล้างจริง) เพราะหย้านติดโควิดจากกลุ่มเสี่ยงที่เฮาไปเยี่ยมคือกัน หรือคุณหมอว่าจังได๋ค่ะ แม้อยู่บ้อค่ะ (อสม.ประเมินเจ้าหน้าที่) เฮาต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองและประชาชน ในเรื่อง “เสียสละ” อสม.บอกว่า “มันคือหน้าที่ ที่ต้องทำ และมีความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือ และดูแลคนอื่น ถึงเงินเดือนพวกเราจะน้อยแต่เราทำด้วยความเต็มใจ ดีใจที่ได้ช่วยคนค่ะ” และอันสุดท้ายเรื่อง “กตัญญู” อสม.พูดไว้ประทับใจมาก อสม.นางพูดว่า “หนูอยากเฮ็ดงานถวายเพิ้นคือกันค่ะ หนูฮักและเคารพพ่อเพิ้น คือ ร.9 ตอนเพิ้นเสียหนูกะได้ไปกราบเพิ้นทื้อหนึ่ง(หนึ่งครั้ง) หนูปิติจนน้ำตาไหล หนูคิดว่าฮักพ่อแล้วก็ต้องฮักลูกเพิ้นนำค่ะ ถึงหนูศีล 5 บ่ครบ คือข้อ 1 หนูยังตบยุงอยู่กับข้อ 4 บางถื้อ(บางครั้ง) กะวื้อ(โมโห) ด่าไทบ้าน(ชาวบ้าน)คือกันคือบอกบ่ฟัง ให้ใส่หน้ากากอนามัยกะบ่ใส่ทั้งที่ตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง” สุดท้าย อสม.นาง บอกว่านางจะเพียรมีศีล 5 ให้ครบจะทำตามที่อาจารย์คุณแม่สีใบตอง บุญประดับ สอนเพราะอยากมีความสุข เหมือนทีม วิทยากร เมื่อสารเอ็นโดฟินหลั่ง เป็นสารสุขโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ไม่มี เพราะเป็นอยู่อย่างมีสติ สุดท้ายก่อนกลับบ้านแอบถามอีกรอบว่า“แล้วเราจะไปทำอย่างไรต่อในชุมชนที่ว่าจะให้บริการที่เป็นมิตรกับชาวต่างชาติในชุมชนล่ะ” อสม.นางบอกว่า “ในชุมชนหนูมีแรงงานลาวมาจากกทม.ตกค้าง ไม่สามารถข้ามแดนกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนได้ บางรายขอพักอาศัยอยู่ในวัด บางรายอาศัยอยู่บ้านญาติ เวลาหนูไปเยี่ยมหนูทำด้วยความรักค่ะ คือพูดดีให้กำลังใจกับเขา ทำดีด้วยคือเวลาวัดไข้ก็จะบอกว่าขออนุญาตวัดไข้ และเมื่อวัดเสร็จก็บอกผล และบอกให้เขา(แรงงานต่างชาติที่ตกค้าง) จำด้วยว่าอุณหภูมิร่างกายเท่าไหร่ เผื่อมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาถามจะได้ตอบถูกและหนูบอกย้ำกับเขาว่าอย่าขี้เกียจล้างมือต้องล้างมือบ่อยทุกครั้งที่หยิบจับของ และต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เข้าไปในชุมชนหรือไปซื้อของ ในส่วนของความคิด หนูคิดว่าเราโชคดีที่มีบ้านอยู่อาศัย เหนื่อยจากทำงานกลับมาบ้านได้อาบน้ำทานข้าวกับครอบครัว ได้นอนในบ้านตัวเอง สงสารน้องเค้าไม่รู้เมื่อไหร่จะได้กลับบ้านตัวเองที่ฝั่งลาว และโชคดีที่น้องไม่ติดโควิดมาทำให้ชุมชนเราเดือดร้อน บางทีหนูก็แบ่งข้าวกับอาหารให้พวกเค้าทานนะคะ ได้ทำบุญ”
                        ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ และพยาบาล พบว่ามีหลายคน จากหลายพื้นที่ ตัดสินใจที่เพียรมีศีล 5 ครบ ได้เรียนรู้จักตนเองว่าไม่ได้เป็นชาวพุทธ เฉพาะในบัตรประชาชนแต่ได้เรียนรู้ถึงการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เชื่อเรื่อง “กรรม” คือการพูด คิด ทำ ว่าเกิดจากตนเองกระทำไม่ได้เกิดจากเหตุหรือปัจจัยภายนอก เกิดจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น ดังเช่น กรณีเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สนามมวยลุมพินี หรือในผับที่ซอยทองหล่อ และอีกหลายกรณี รวมทั้งผู้ที่ติดเชื้อโควิค-19 ที่เป็นเซียนมวยมาจากเวทีลุมพินี นำมาติดลูก และภรรยา เกิดการกักตัว 14 วันของกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัสกับผู้ป่วย ซึ่งเกิดจากการกินดื่มเสพ และเล่นการพนัน ได้เรียนรู้สุข หรือทุกข์เราสามารถกำหนด หรือสร้างทำได้
เมื่อรู้จักกรรมแล้ว ต้องมี “รักเหนือรัก” ให้คนตรงหน้าในเวลาปัจจุบัน ตามหลักสาราณียธรรม 6 คือ 1-3) มีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และเมตตามโนกรรม คือการทำ พูด คิด สิ่งที่เป็นประโยชน์ ทั้งต่อหน้าและลับหลังต่อบุคคลอื่น 4) มีการเฉลี่ยลาภแบ่งปันคือเป็นคนที่มีลักษณะ พึ่งตน สร้างสรรค์ ขยันอดทนไม่เอาเปรียบใคร ตั้งใจเสียสละ  5)  มีศีลเสมอกัน คนที่มีคุณธรรมสูงกว่า รักและเมตตาคนที่มีคุณธรรมต่ำกว่า และคนที่มีคุณธรรมต่ำกว่ารักและเคารพคนที่มีคุณธรรมสูงกว่า รวมแล้วสาราณียธรรม 6 (รักเหนือรัก) ซึ่งเป็น “ธรรมะที่คุ้มครองโลก เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สงบ และร่วมเย็น” นำสู่สังคมพุทธพจน์ 7 ซึ่งเป็นผลจากสาราณียธรรม 6 ผลที่ได้คือ พึงมีการระลึกถึงกัน มีความรักกัน มีความเคารพกัน มีความสงเคราะห์กัน ไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียง เป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ จะมีพิธีกรรม กิจกรรม วัฒนธรรมที่สอดคล้องกัน เป็นหนึ่งเดียวกันไม่แตกแยกกัน ไม่สร้างปัญหา หรือความไม่สบายกายและใจให้กันและกัน 
                                 ดังเช่นมีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ประชาชนตื่นกลัวไม่เว้นแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข การที่จะทำให้เราละวางได้จากความกลัวที่ไร้ซึ่งเหตุผล และมีการให้บริการที่เป็นมิตรด้วยคุณธรรม “รักเหนือรัก” ระดับศีล 5 กับแรงงานข้ามชาติด้วยความสนิทใจ สิ่งสำคัญ คือต้องรู้จักตนเอง ว่าเป็นคนประเภทใดใน 4 ชนิด คือ 1) บุคคลชนิดเต็มรักมีธรรมะ 2) บุคคลชนิดเต็มรักไม่มีธรรมะ 3) บุคคลชนิดขาดรักมีธรรมะ 4) บุคคลชนิดขาดรักไม่มีธรรมะ  ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ  เมื่อเราได้เรียนรู้ตนเองว่าเราขาดสิ่งใด ขาดศีล 5 ก็เพียรเติมเต็มไปทีละข้อจนครบ ด้วยการมีพฤติกรรม เหมือที่ อสม.นาง พูด คือ “พฤติกรรม สะอาด ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ เสียสละ และกตัญญู” ด้วยกาย วาจา และใจของเราเอง ซึงบุคลากรที่ผ่านการอบรมได้มีการนำไปปรับปรุงตนเองเพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นต้นแบบ หรือเป็นแบบอย่างให้กับเพื่อนร่วมงาน และผู้มารับบริการตลอดจนผู้ป่วยทั้งคนไทยและผู้ป่วยชาวต่างชาติ

 บทสรุป
                                     “การพัฒนาระบบบริการที่เป็นมิตรกับชาวต่างชาติ ด้วยคุณธรรม   “รักเหนือรัก” ระดับ ศีล 5 เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด - 19) ถวายพระบาท สมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563” นั้นบุคลากรสาธารณสุขที่สมัครใจเข้าร่วมในการพัฒนาศักยภาพตนเอง ด้วยการรู้จักตนเองว่า ตนเองเป็นใคร เป็นคนประเภทใดใน 4 ชนิด คือ 1) บุคคลชนิดเต็มรักมีธรรมะ 2) บุคคลชนิดเต็มรักไม่มีธรรมะ 3) บุคคลชนิดขาดรักมีธรรมะ 4) บุคคลชนิดขาดรักไม่มีธรรมะ  เมื่อรู้แล้วว่าตนเองเป็นคนประเภทใด ในประเภทที่ 2, 3 และ 4 ก็ให้เพียรตนให้มีศีล 5 โดยเริ่มทีละข้อเลือกฝึกปฏิบัติข้อที่ง่ายก่อน เพื่อจะได้สัมผัสความสุขที่เกิดจากความสำเร็จที่ได้นั้นด้วยตนเอง เมื่อบุคลากรสาธารณสุข รักคนเป็น มีการแบ่งปัน สิ่งที่ดีและมีประโยชน์ ซึ่งรวมทั้งความรักและความเมตตาต่อผู้มารับบริการ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือคนต่างชาติ อานิงสงค์แห่ง “รักเหนือรัก” ระดับศีล 5 จะทำให้ท่านมีความสุขร่ำรวยด้วยหลักแห่งบุญนิยม การทำความดีเพื่อถวายดีนั้นให้แก่พระมหากษัตริย์ ดีนั้นก็จะคืนสนองสู่พวกเราเอง เฉกเช่นประเทศไทยรับการยอมรับเป็นอันดับหนึ่งของโลก ในด้านการดูแล การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟู เมื่อเกิดโรคไวรัสโคโรนาระบาดใหญ่ทั่วโลก ประเทศไทยยังคงความเป็นไทย ไม่เสียเอกราชให้กับโควิด-19 และสิ่งนี้เราสามารถทำได้จริงกับประชาชนทุกเชื้อชาติ และทุกสีผิว เพราะคุณธรรม “รักเหนือรัก” ระดับศีล 5 เมื่อเพาะบ่มลงในจิตวิญญาณสิ่งที่เกิดขึ้นจะมีแต่ดีกับดี และสำเร็จได้ตามที่ปารถนาทุกประการ
 


Not Rated stars เฉลี่ย : Not Rated จาก 0 ครั้ง.
รายละเอียดผู้เขียนบทความ blog
blog name :
เจ้าของ blog :
อาชีพ :
สถานที่ทำงาน :
จำนวนบทความใน blog :
ระดับของ blog :
admin
ดร.วีรพันธ์ ซื่อสัตย์
10/7/2511
สสจ.อบ.
2 เรื่อง
[ มือใหม่ ] [ หนึ่งในใต้หล้า ]

การเฝ้าระวัง Covid-19 5 อันดับล่าสุด

      การพัฒนาระบบบริการที่เป็นมิตรกับชาวต่างชาติ ด้วยคุณธรรม “รักเหนือรัก” ในระดับศีล 5 ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) 22/ม.ค./2564